โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง…มหันตภัยใกล้ตัว

หลายคนอาจไม่รู้ว่า มีโรคมากมายหลายโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค หรือเกิดจากการติดเชื้อมาจากผู้อื่น แต่กลับเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างไม่ถูกต้องของเราเอง เมื่อเวลาผ่านไปนานวันจึงส่งผลต่อการเกิดโรคที่เรียกว่า “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” หรือ NCDs แบบไม่รู้ตัว

มาทำความรู้จักกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs
โรค NCDs หรือ non-communicable diseases คือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรค และไม่สามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ ส่วนใหญ่แล้วโรคในกลุ่มนี้จะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ คือค่อยๆ สะสมอาการทีละนิดโดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว ซึ่งหากไม่ได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำก็มักจะไม่ทราบและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันเวลา จนโรคค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้น และกลายเป็นอาการเรื้อรังในที่สุด จนถึงภาวะอันตรายและส่งผลกระทบต่อชีวิตอย่างมาก เช่น เกิดภาวะติดเตียงภายหลังการเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก มีอาการเหนื่อยหอบเรื้อรังหลังเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น

โรคที่อยู่ในกลุ่มโรค NCDs มีอะไรบ้าง
คุณเองอาจคาดไม่ถึงว่า แค่ใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ที่ไม่ค่อยใส่ใจสุขภาพ อาจส่งผลให้เกิดโรค NCDs เหล่านี้ได้

โรคเบาหวาน : ภาวะที่น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติอย่างควบคุมไม่ได้ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ตาบอด ไตวาย แผลเรื้อรังที่เท้า
โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง : เกิดจากการเกาะของคราบไขมันภายในผนังหลอดเลือดส่งผลให้หลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจและสมองไม่เพียงพอ นำไปสู่โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย หลอดเลือดสมองตีบ หรือหลอดเลือดสมองแตก อัมพฤกษ์ อัมพาต
โรคถุงลมโป่งพอง : ถุงลมในปอดเกิดการอักเสบ จนทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซผิดปกติ มักเกิดจากการสูบบุหรี่
โรคมะเร็ง : เกิดจากเซลล์ในร่างกายมีความผิดปกติ ที่พบมากคือ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่
โรคความดันโลหิตสูง : เป็นภาวะความดันเลือดภายในหลอดเลือดแดงสูงกว่าปกติ เกิดจากอายุที่มากขึ้น ขาดการออกกำลังกาย ทานอาหารรสเค็ม ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งขึ้น แล้วเกิดภาวะหลอดเลือดตีบ
โรคอ้วนลงพุง : เกิดจากระบบการเผาผลาญผิดปกติ รับประทานของหวาน ของมัน ของทอดมากเกินไป และขาดการออกกำลังกาย ส่งผลให้ไขมันสะสมบริเวณใต้ผิวหนังและในช่องท้อง ทำให้มีรอบเอวใหญ่ เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ใน เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และนอนกรนได้
พฤติกรรมเสี่ยงที่พาไปสู่โรค NCDs
กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการกิน การทำงาน ความเครียด หรือแม้กระทั่งการพักผ่อน หากเราใช้ชีวิตอย่างไม่ระมัดระวัง ละเลยการดูแลสุขภาพ ความเสี่ยงในการเกิดโรคก็มีมากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมที่ควรระวังมีดังนี้

บริโภคอาหารรสหวานจัด เค็มจัด หรืออาหารที่มีไขมันสูง
ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สูบบุหรี่
ไม่ออกกำลังกาย
พักผ่อนไม่เพียงพอ
มีภาวะเครียด
การรับประทานยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เช่น ยาแก้ปวด ยาชุด ยาสมุนไพร ยาลูกกลอน
ลดเสี่ยงโรคได้ แค่ปรับพฤติกรรม
การมีชีวิตให้ห่างจากกลุ่มโรค NCDs ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างของเราให้ดีขึ้นเท่านั้นเอง

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม เน้นการรับประทานผักและผลไม้ที่ไม่หวานจัด
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสหวานจัด เค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง
ลดการกินเค็ม ปริมาณโซเดียม < 2,500 mg/วัน (ประมาณเกลือแกง 1 ช้อนชา)
ลดการกินหวาน ปริมาณน้ำตาล <20 g/วัน (ประมาณน้ำตาล 4 ช้อนชา)
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที/ครั้ง ให้ได้สัปดาห์ละ 5 ครั้ง หรือรวม 150 นาที
งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
งดสูบบุหรี่
พักผ่อนให้เพียงพอ
ผ่อนคลายความเครียด
ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ ค่าน้ำตาลในเลือด (Fasting Blood Sugar), ไขมันในเลือด (Cholesterol, LDL, HDL, Triglyceride), ค่าตับ (AST, ALT), การทำงานของไต (BUN,Creatinine), ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG), เอกซเรย์ปอด (Chest X-ray) และอื่นๆ ตามคำแนะนำของแพทย์
รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ไม่ซื้อยารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
หากคุณกำลังคิดว่า กลุ่มโรค NCDs ไม่ใช่โรคติดต่อจึงไม่น่ากังวล…คุณกำลังคิดผิด! เพราะกลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ ของคนไทย และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ
กลุ่มโรค NCDs จัดว่าเป็นภัยเงียบ ที่จะคอยเข้ามาคุกคามความสุขในชีวิตเรา เราต้องเตรียมรับมือให้พร้อม ระวังตัวให้ดี อย่าใช้ชีวิตให้ตกอยู่ในความเสี่ยง ด้วยการดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีที่สุด และที่สำคัญ คือ การตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อที่จะทราบถึงความผิดปกติ และรักษาได้ทันเวลา