วัดเสาธงเก่า เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกายเช่นเดียวกับวัดทั่ว ๆ ไป สร้างเมื่อปี พ.ศ.2400 ได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2415 ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรี มีเนื้อที่ 24ไร่ 3 งาน 36 ตารางวา
ทิศตะวันตกและทิศใต้เดิมเป็นทางโคกระบือ ปัจจุบัน เป็นถนนถัดไปเป็นทุ่งนา ทิศตะวันออกติดแม่น้ำลพบุรี ทิศเหนือเป็นที่ดินของชาวบ้าน มีที่ธรณีสงฆ์ 4 แปลงเนื้อที่ 44 ไร่ 88 ตารางวา
อาคารเสนาสนะสำคัญมี พระอุโบสถแบบเก๋งจีน สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2435 ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ ฌาปนสถาน และกุฏิสงฆ์จำนวน 8 หลัง ปูชนียวัตถุสำคัญของวัดเสาธงเก่า คือพระประธานในพระอุโบสถชาวบ้านเคารพนับถือกันมาก เรียกกันว่า “หลวงพ่อใหญ่” เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประมาณ 3 เท่าของคนจริงพุทธลักษณะเป็นศิลปะสมัยอู่ทอง สังฆาฏิเป็นลายดอกพิกุล ของแก้บนที่นิยมกันคือการปิดทองนอกจากหลวงพ่อใหญ่แล้วเจดีย์ใหญ่หน้าพระอุโบสถ ก็เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านวัดเสาธงเก่ายังมีโบราณวัตถุที่รักษาสืบทอดกันมาอีกหลายอย่างเช่น พระพุทธรูปศิลาแลงศิลปะสมัยสุโขทัย ขันน้ำมนต์ขนาดใหญ่
วัดเสาธงเก่า นอกจากจะเป็นที่บำเพ็ญกุศลกิจของพุทธศาสนิกชนชาวบ้านหมู่ที่ 1, 2 และ 3 ของตำบลเสาธงแล้ว ยังเป็นโรงเรียนพระปริยัติของพระภิกษุสามเณร ให้การอนุเคราะห์แก่โรงเรียนประถมศึกษาและเด็กก่อนวัยเรียน เป็นที่ตั้งของที่ทำการของ อบต. เสาธงรวมทั้งสถานีอนามัยอีกด้วย วัดเสาธงเก่ามีพระภิกษุเจ้าอาวาสอันเป็นที่เคารพนับถือว่าเป็นเกจิอาจารย์คือ หลวงพ่อกร หรือ พระครูกิตติสุนทร เจ้าอาวาสองค์ที่ 8 เคยมีการสร้างวัตถุมงคล คือ พระพุทธรูป “มงคลชัยลาภ” เหรียญหลวงพ่อกร และ เหรียญหลวงปู่หน่ายรุ่น”ลายเซ็น” เมื่อปี พ.ศ. 2520
วัดเสาธงเก่า นับว่าเป็นวัดที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นอกจากเจ้าอาวาส และพระภิกษุสามเณรแล้ว ชาวพุทธวัดเสาธงเก่าก็คอยอุปถัมภ์บำรุงอยู่เสมอ นับเป็นวัดที่มีชื่อเสียง และได้รับความเชื่อถือศรัทธาจากชาวบ้านเสมอมา ปัจจุบัน การคมนาคมสะดวกสบาย ความเจริญทางวัตถุเข้ามามาก สิ่งเหล่านี้ได้ดึงเด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้คนให้เหินห่างจากวัดมากขึ้นทุกที วัดเสาธงเก่า ได้พยายามทำวัดให้สะอาด สงบ ร่มรื่น สวยงาม เพื่อให้เป็นที่พึ่ง ที่พักทางใจ ที่พัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่เยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระภิกษุสามเณรที่อุปสมบทหรือบรรพชาที่วัดเสาธงเก่าแห่งนี้ ก็จะได้รับการดูแล ฝึกหัดขัดเกลา ให้อยู่ในพระธรรมวินัยที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาอันสมควร อย่างไรก็ตาม ความเจริญของวัดย่อมขึ้นอยู่กับการอุปถัมภ์บำรุงและดูแลของชาวบ้านด้วย ความเจริญของวัดเสาธงเก่านี้ก็มาจากชาวพุทธวัดเสาธงเก่าด้วยเช่นเดียวกัน