กฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบ โดยกลไกของ อปท.

กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ขึ้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จะช่วยป้องกันเยาวชนไม่ให้เข้าสู่วงจรร้ายของการติดบุหรี่อันเนื่องมาจากกลยุทธ์การตลาดบุหรี่ที่หลากหลายขึ้น และเป็นการคุ้มครองสิทธิของเยาวชนและสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และที่สำคัญอีกประการคือ ประเทศไทยเข้าร่วมรัฐภาคีตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO-FCTC) จึงจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์เท่าทันกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทบุหรี่ และแนวปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาดังกล่าว

ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมการบริโภคยาสูบอยู่เดิม 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ซึ่งบังคับใช้มานานกว่า 25 ปี สำหรับ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มีมาตรการสำคัญที่ประชาชนต้องรับทราบเพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายที่ถูกต้อง

ดังนี้

1.กำหนดห้ามขายหรือให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี

2.ห้ามให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นผู้ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ

3.ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบใน 4 กลุ่มสถานที่
ได้แก่
วัดหรือสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา
สถานพยาบาลและร้านขายยา
สถานศึกษาทุกระดับ
สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก
ซึ่งหากเจ้าของพื้นที่หรือผู้ดูแลไม่แจ้งความเพื่อดำเนินคดีก็จะมีความผิดปรับ 3,000 บาท

4.กำหนดห้ามโฆษณาสื่อสารการตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบในทุกรูปแบบ อาทิ พริตตี้ส่งเสริมการขายในงานคอนเสิร์ต

5.ห้ามผู้ประกอบการธุรกิจผลิตภัณฑ์ยาสูบทำกิจกรรม CSR อุปถัมภ์สนับสนุนบุคคล หรือองค์กร ที่เป็นการสร้างภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบ

6.ห้ามตั้งวางโชว์ผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือซองบุหรี่ ณ จุดขายปลีกที่ทำให้ผู้บริโภคหรือประชาชนมองเห็น

7.ห้ามแบ่งซองขายบุหรี่เป็นรายมวน

8.เพิ่มโทษผู้ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่เป็นปรับไม่เกิน 5,000 บาท

และ 9.กำหนดหน้าที่ให้เจ้าของสถานที่สาธารณะที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ มีหน้าที่ต้องประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน ดูแลให้ไม่มีการฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ หากฝ่าฝืนไม่ดำเนินการ เจ้าของสถานที่มีโทษปรับไม่เกิน 3,000 บาท