มาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

17 พฤษภาคม 2564
การขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 กระทรวงมหาดไทยจึงได้กำหนดมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ใน 3 มาตรการหลัก คือ

1.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ ประสานข้อมูลกับกรมควบคุมมลพิษ และ Gistda จัดทำแผนเผชิญเหตุ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลัง เกิดเหตุ ตามกลไกพระราชบัญญัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 บังคับใช้กฎหมาย และเพิ่มความเข้มข้นในการแก้ไขปัญหาตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” แจ้งเตือนแนะนำข้อปฏิบัติตนแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และสวมใส่หน้ากากอนามัย กำหนดสถานที่พักชั่วคราว หรือ Safety Zone ระบบแจ้งเตือนสถานการณ์และบริการสาธารณสุข พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการทำงานเพื่อถอดบทเรียนเมื่อสถานการณ์สิ้นสุดลง

2.มาตรการและการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง เข้มงวดตรวจจับรถควันดำ เร่งระบายการจราจรไม่ให้ติดขัด ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ตรวจสภาพ/บำรุงรักษายานพาหนะขนส่งสาธารณะ ทำความสะอาดพื้นผิวถนน รวมทั้งควบคุมการเผาในที่โล่ง/พื้นที่เกษตรอย่างเคร่งครัด ตรวจสอบและควบคุมการปล่อยมลพิษจากโรงงาน ป้องกันและลดปริมาณฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง

3.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบคุณภาพอากาศ ขยายเครือข่ายแจ้งเตือน สร้างการรับรู้ถึงข้อมูลและสถานการณ์ที่ถูกต้องแก่ประชาชน จัดระเบียบการเผาตามลักษณะพื้นที่ แบ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมให้สอดคล้องตามหลักวิชาการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมความตระหนัก และปรับพฤติกรรมประชาชน ในการลดการเผาในที่โล่ง พื้นที่การเกษตร และการเผาขยะในชุมชนหรือเมือง