ประชาสัมพันธ์การทิ้งหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าอย่างถูกวิธี (ฮาวทูทิ้ง)

ประชาสัมพันธ์การทิ้งหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าอย่างถูกวิธี
“หน้ากากอนามัย” และ “หน้ากากผ้า” จัดได้ว่าเป็นขยะติดเชื้อ เนื่องจากปนเปื้อนด้วยเสมหะ น้ำลาย น้ำมูกของบุคคลผู้ใช้ และอาจยังปนเปื้อนเชื้อโรคจากบุคคลที่ป่วยหรือผู้เป็นพาหะนำโรคได้
ปริมาณขยะหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวหรือหน้ากากผ้าที่ชำรุดถูกนำไปทิ้งจำนวนมากจึงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมได้ หากมีการจัดการที่ไม่ถูกต้อง เพราะนอกจากหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าจะเป็นขยะติดเชื้อแล้ว ยังมีองค์ประกอบที่ผลิตจากวัสดุที่ย่อยสลายยาก อย่างพอลิโพรไพลีน (Polypropylene : PP) ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่ง ที่นำมาขึ้นรูปให้เป็นเส้นใยสังเคราะห์ แล้วทอให้เป็นแผ่น รวมไปถึงลวดสำหรับปรับให้เข้ากับโครงจมูกก็ทำมาจากแผ่นพลาสติกขนาดเล็ก หรือลวดโลหะอะลูมิเนียม
ดังนั้น ในการทิ้งหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าที่ใช้แล้วทุกครั้ง จะต้องทิ้งแยกใส่ถุงต่างหากจากถุงขยะประเภทอื่น จากนั้นปิดปากถุงให้แน่น และทำสัญญลักษณ์ที่ถุงหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้า เช่น ผูกเชือก หรือเขียนบอกให้รู้ว่าเป็นขยะติดเชื้อหรือขยะหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้า เป็นต้น โดยฝาก อสม.ประจำหมู่บ้านเป็นผู้รวบรวมหรือนำไปทิ้งในถังขยะสีแดง (ถังขยะติดเชื้อ) ณ จุดรวบรวมขยะติดเชื้อ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเสาธง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทางกลาง
โดยวิธีการทิ้งที่ถูกต้องควรถอดหน้ากากออก โดยไม่สัมผัสด้านในของหน้ากาก จากนั้นพับหน้ากาก โดยเก็บส่วนที่สัมผัสกับหน้าให้อยู่ด้านใน แล้วม้วนสายรัดหรือสายที่คล้องหู พันรอบหน้ากาก ก่อนทิ้งลงในถุงสำหรับแยกใส่หน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้า หรือถังขยะติดเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนอยู่ และต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังทิ้ง
ด้วยความปราถนาดี
องค์การบริหารส่วนตำบลเสาธง