วัดทางกลาง

วัดทางกลาง ตั้งอยู่เลขที่ 77หมู่ที่ 4 ตำบลทางกลาง อำเภอบางปะหัน จังหวัด พระนครศรีอยุธยา อยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำลพบุรี มีที่ดินเป็นพื้นที่ตั้งวัดเนื้อที่ 40 ไร่

วัดทางกลางสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2310ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2315บางคนเรียกวัดนี้ว่า “วัดทองกลาง” ได้เริมเปิดสอนพระปริยัติธรรม เมื่อ พ.ศ. 2499

วัดทางกลาง ก็เช่นเดียวกับวัดอื่น ๆ ที่เป็นแหล่งรวมใจของชาวพุทธ ชาวบ้านตำบลทางกลางหมู่ที่ 1,2 3และ 4 และใกล้เคียง ได้อาศัยเป็นที่บำเพ็ญกุศลและปฏิบัติศาสนกิจในโอกาสและประเพณีต่าง ๆ นอกจากนี้ วัดทางกลางยังได้ปันเนื้อที่ส่วนหนึ่งให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนประถมศึกษา คือโรงเรียนวัดทางกลาง และเป็นที่ตั้งของสถานีอนามัยอีกด้วย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ท่านเจ้าอาวาส พระภิกษุ สามเณรและญาติโยมได้อุปถัมภ์ ดูแล บูรณะซ่อมแซมวัดมาอย่างสม่ำเสมอ ทำให้วัดทางกลางมีอาคารเสนาสนะที่มั่นถาวร งดงาม ครบถ้วน เช่นเดียวกับวัดอื่น ๆ ทั้งพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ ฌาปนสถาน กุฏิ ฯลฯ

ชีนยวัตถุสำคัญของวัดทางกลางคือ “หลวงพ่อขาว” พระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขนาด 2 เท่าของคนจริง เป็นที่เคารพ เชื่อถือศรัทธาของชาวบ้าน ของแก้บนที่นิยมกันมากที่สุดคือ หัวหมู และละคร

วัดทางกลาง เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งที่ชาวพุทธได้ดูแล อุปถัมภ์กันมาอย่างต่อเนื่อง สถาปัตยกรรม หรือสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เป็นสิ่งสะท้อนถึงความรอบรู้ ความสามารถ ความคิด และจิตใจของชาวพุทธวัดทางกลางได้เป็นอย่างดี เช่น ศาลาท่าน้ำ ซึ่งปัจจุบันจะไม่มีเรือสัญจรมาเทียบท่า แต่ก็เป็นที่นั่งพักผ่อนอันน่ารื่นรมย์ เป็นศาลาพักร้อน สถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ที่มีรูปทรงสวยงามมาก หอระฆัง และหอกลอง ที่ยังคงรักษาไว้ให้ได้เห็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หอกลองนั้น นับวันก็จะหาดูได้ยากขึ้นทุกที

นอกจากสถาปัตยกรรม และสิ่งก่อสร้างแล้ว วัดทางกลาง ยังมีต้นไม้ใหญ่ ๆ อยู่บ้าง หรือต้นสาละ อันเป็นต้นสำคัญทางพุทธศาสนา คือ เป็นต้นไม้อันเป็นที่ประสูติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้ปลูกไว้ให้ญาติโยมได้เห็นเป็นพุทธานุสติ

ความเจริญ ความเสื่อม ล้วนเป็นอนิจจัง แต่ตราบใดที่พุทธศาสนิกชนยังคอยดูแล อุปถัมภ์บำรุงอยู่ วัดทางกลางก็จะยังคงเป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณ ช่วยชูชุบจิตใจ เป็นศูนย์รวมใจของชุมชนได้เสมอ เป็นศาสนสถานที่จะช่วยสืบสานพระพุทธศาสนาให้ดำรงคงอยู่ตลอดไป